ประโยชน์ของขิง สรรพคุณ และอันตรายที่ควรรู้!
ขิงเป็นพืชที่มีความน่าสนใจ เป็นส่วนประกอบของอาหารและมีประโยชน์ในด้านการแพทย์ มีรสชาติเผ็ดอมหวานเป็นเอกลักษณ์ เป็นยาสมุนไพรคู่ครัวชั้นเลิศที่ช่วยป้องกันและรักษาสุขภาพ มีชื่อเรียกในทางวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale Roscoe. จัดอยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE ส่วนชื่อสามัญเรียกว่า Ginger มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เป็นส่วนที่นำมาใช้ทำอาหารและทำยา
ส่วนประกอบของต้นขิง
ส่วนประกอบของต้นขิงตามลักษณะทางพฤกษศาสตร์ มีดังนี้
- ลำต้น/เหง้า
ลำต้นขิงเป็นส่วนที่อยู่ใต้ดิน และเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับรากโดยตรง เจริญเติบโตเป็นกอ อาจเรียกได้ว่าลำต้นแท้ ซึ่งคือส่วนที่นำมาบริโภค มักเรียกกันว่าแง่งขิง สามารถแตกแขนงออกเป็นแง่งย่อย ๆ ได้ มีเปลือกสีน้ำตาลหุ้ม ในส่วนลำต้นเทียมที่โผล่เหนือดิน จะมีขนาดเล็ก ยาว แกนเป็นปล้อง มีกาบใบหุ้มเรียงขึ้นไปตามความสูง - ใบ
ใบขิงมีลักษณะเป็นใบสีเขียวเข้ม รูปรีและเรียงเป็นแถวกันเป็นคู่ในแนวสูง เทียมกับลำต้นเทียมขึ้นไป สูงได้มากสุดราว 1 เมตร เป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ตั้งยอดสูงชัน แข็ง และมีขนขนาดเล็กปกคลุม ส่วนใบที่อยู่ด้านล่างจะโค้งพับลง - ดอก
การเจริญเติบโตของดอกขิงเป็นแบบช่อ พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก ดอกจะอยู่กลางเหง้า ก้านดอกยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีกลีบดอกจำนวนมาก ยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร สีเหลืองอมเขียว ส่วนดอกด้านในเมื่อบานจะมีสีชมพูแดงที่เด่นชัด - ผล
ผลขิงจะมีเมล็ดอยู่ภายในจำนวนมาก มีลักษณกลม แบ่งออกเป็น 3 พู เมื่อโตเต็มที่จะมีความกลม แข็ง นำไปใช้ประโยชน์ได้ รสชาติเผ็ดหวานเหมือนส่วนเหง้า - ราก
ส่วนที่ต่อจากเหง้าขิง เป็นลักษณะรากฝอย มีความกลมกระจายตัวอยู่รอบเหง้า และมีสีน้ำตาล นำมาใช้รับประทานได้
ประโยชน์และสรรพคุณของขิง
1.สรรพคุณของเหง้าขิง ซึ่งมีรสชาติเผ็ดร้อน ช่วยขับลมและแก้อาการท้องอืด คลื่นไส้ หรือเวียนศีรษะได้เป็นอย่างดี
2.ลำต้นขิงมีสรรพคุณช่วยแก้ท้องร่วง และแก้จุกเสียด ทำหน้าที่ขับลม ด้วยการนำมาต้มน้ำดื่มเหมือนน้ำชาอุ่น ๆ
3.ตามหลักแพทย์แผนโบราณ จะนำเหง้าสดมาย่างไฟ แล้วตำรวมกับน้ำปูนใส กรองน้ำที่ได้มาดื่ม มีสรรพคุณช่วยให้เจริญอาหารได้ดีขึ้น
4.ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ และขับเสมหะ ด้วยการนำเหง้าแก่มาตำและคั้นเอาแค่น้ำที่เข้มข้น ผสมน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย ค่อย ๆ จิบเมื่อมีอาการ
5.ส่วนของเปลือกเหง้านำมาต้มน้ำดื่ม ทำหน้าที่เป็นยาขับลม ขับปัสสาวะ และบรรเทาอาการท้องอืด และยังสามารถใช้เป็นยาทาแผลหนองและกลากเกลื้อนได้อีกด้วย
6.นำมาทำเป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ด้วยการทำเป็นน้ำขิงสูตรเย็น ที่จะให้รสชาติเผ็ดร้อน และเย็นผสมผสานด้วยกัน ช่วยให้ร่างกายตื่นตัวได้ดี
7.เหง้าขิงแก่จัด สามารถนำมาต้มเป็นน้ำชาเพื่อล้างปากหลังรับประทานอาหารที่มีรสชาติเลี่ยนหรือล้างคาวในปากให้จางลงได้
8.ใช้ขิงแก่มาบดเป็นผงใช้พอกฟันผุที่มีอาการปวด ช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้
9.ด้วยกลิ่นหอมเฉพาะตัว นิยมนำเอาส่วนของเหง้ามาทำอาหารหลากหลายชนิด ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด
10.ผลของต้นขิง มีสรรพคุณตามตำรับแพทย์แผนโบราณ ช่วยบำรุงน้ำนม และบรรเทาอาการไข้ คอแห้ง และอาการเจ็บคอ
11.นำมาทำเป็นของหวานที่มีประโยชน์ด้านสมุนไพร ให้รสชาติที่หอมอร่อย เผ็ดอ่อน ๆ เช่น บัวลอยน้ำขิง, เต้าฮวย และไข่หวาน เป็นต้น
12.ใช้ดับกลิ่นคาวในเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอาหารทะเล จึงมักนำมานึ่งกับปลาน้ำจืด
13.สารสกัดจากขิงที่นำมาใช้ทำเป็นยารับประทาน มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ และป้องกันการติดเชื้อ ทำให้แผลหายเร็ว
14.รับประทานเป็นผักเครื่องเขียงกับอาหารรสจัด เลี่ยน หรืออาหารคาว ช่วยตัดรสทำให้อาหารอร่อยมากยิ่งขึ้น
15.การรับประทานน้ำขิงในปริมาณที่พอเหมาะ จะช่วยขับเหงื่อ เป็นเหมือนการล้างพิษตามสูตรธรรมชาติบำบัด
16.การรับประทานขิงสด ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายได้ดี เพราะมีใยอาหารมาก จึงช่วยแก้อาการท้องผูก ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อไปพร้อมกัน
17.ช่วยบรรเทาอาการไมเกรน และอาการวิงเวียนศีรษะ ด้วยการนำขิงแก่มาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ แล้วแช่ในน้ำอุ่น จากนั้นสูดดมเข้าไป น้ำมันที่ระเหยออกมาจากขิง จะทำให้ผ่อนคลาย รู้สึกเบาสมอง ลดอาการปวดไมเกรนให้รู้สึกดีขึ้น
อันตรายหรือข้อควรระวังในการกินหรือใช้ขิง
1.บางคนอาจมีอาการแพ้ขิง หากรับประทานเข้าไป อาจเกิดเป็นผื่นขึ้นตามผิวหนัง หรือเกิดภาวะผิดปกติเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดได้
2.การบริโภคขิงในปริมาณมากอาจทำให้ไม่รู้สึกสบายท้อง เกิดอาการท้องอืดได้ เนื่องจากความเผ็ดของขิงอาจกระตุ้นกระเพาะอาหารและลำไส้
3.ขิงมีฤทธิ์ร้อน หากรับประทานมากเกินไป จะทำให้เยื่อบุภายในช่องปากอักเสบรุนแรง จนกลายเป็นแผลร้อนในขนาดใหญ่ตามมา
4.การรับประทานขิงในช่วงที่ต้องกินยาละลายลิ่มเลือด จะยิ่งทำให้เกิดภาวะเลือดหยุดยาก หากมีภาวะเลือดออกภายใน เสี่ยงเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
จะเห็นได้ว่าขิงเป็นพืชสมุนไพร และเป็นเครื่องเทศมากประโยชน์ ใช้รับประทานเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารที่มีติดอยู่ในเกือบทุกครัวเรือน อย่างไรก็ตามควรเลือกใช้อย่างระมัดระวัง ไม่มากจนเกินไป เพราะจะส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารเกินจำเป็น นำไปสู่อันตรายตามมาได้