การรักษาสุขภาพคืออะไร มีประโยชน์ ประเภทและข้อควรระวังอะไรบ้าง?
การรักษาสุขภาพ(Health Care) คือ การดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน เมื่อสุขภาพกายดี ก็ทำให้สุขภาพกายดี ในขณะเดียวกันเมื่อสุขภาพใจดี ก็ทำให้สุขภาพกายดีตามไปด้วยเช่นกัน
อาจกล่าวได้ว่านี่คือการกระทำอย่างหนึ่ง ซึ่งเราทุกคนควรปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรประจำวัน มีวินัยในการดูแลอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือการทำอย่างถูกวิธี กำจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคที่จะมีผลต่อสุขภาพอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวเองเข้าไปเสี่ยงในพื้นที่ ๆ มีเชื้อโรค, การเลือกกินอาหาร, การหลีกเลี่ยงป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่สุขภาพที่ดี
การรักษาสุขภาพไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่คอยสังเกตดูแลกายของตัวเองว่ามีสัญญาณความผิดปกติอะไรหรือไม่ และการสังเกตจิตใจให้ตัวเองเป็นคนที่มีพลังบวก มองโลกในแง่ดี ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ จัดการเวลาในแต่ละวันให้เป็นไปตามหลักของนาฬิกาชีวภาพ ซึ่งก็คือการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อวัน และการตื่นแต่เช้า ให้ร่างกายได้สัมผัสกับแสงแดดอ่อนยามเช้า และการรักษาสมดุลของสุขภาพองค์รวมให้ได้มากที่สุด
ประโยชน์ของการรักษาสุขภาพ
1.ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ห่างไกลจากความเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจ จนทำให้รู้สึกมีความสุขอยู่ตลอดเวลา
2.ทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในร่างกายสมดุล ระบบฮอร์โมนและการหลั่งสารในสมองทำได้อย่างเป็นปกติ
3.ช่วยให้เกิดการนอนหลับลึก เต็มอิ่มตลอดคืน ซึ่งมีผลช่วยให้รู้สึกว่าตื่นเช้าขึ้นมาได้อย่างสดชื่นแจ่มใส ไม่ง่วงเหงาระหว่างวัน
4.ทำให้มีความกระฉับกระเฉงตลอดทั้งวัน เมื่อเคลื่อนไหวร่างกายจะไม่เหนื่อยง่าย
5.ทำให้มีรูปร่างที่ดี สมส่วน ห่างไกลจากปัญหาน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโรคและการเจ็บป่วยทางร่างกายได้
6.ทำให้ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดที่พบได้บ่อย
7.เพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองมากขึ้น เพราะการรักษาสุขภาพให้ดีนั้น จะส่งผลให้ผิวกายดูดี ใบหน้าผ่องใสเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล หรือที่เรียกว่าดูดีจากภายในสู่ภายนอก
8.อารมณ์ดีขึ้น เพราะเมื่อสุขภาพกายดีเป็นปกติ จะนำไปสู่อารมณ์ที่ดี สมองหลั่งสารเอ็นโดรฟินและเซราโทนินออกมามากขึ้น ทำให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลายทางอ้อม
9.หากมีโรคประจำตัว และพยายามรักษาสุขภาพให้ดี จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเจ็บป่วยต่าง ๆ และป้องกันไม่ให้โรคกำเริบขึ้นมา อีกทั้งยังมีส่วนช่วยทำให้มีช่วงที่โรคสงบ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุขเหมือนคนปกติ
10.เมื่อรักษาสุขภาพกายและใจได้ดี จะทำให้ผู้อื่นที่อยู่ใกล้ มีความสุขไปด้วย สัมผัสได้ถึงพลังบวกที่ส่งออกมาจากตัวเรา จนใคร ๆ ก็อยากอยู่ใกล้
11.ลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคซึมเศร้า ซึ่งมักจะมีความเกี่ยวข้องกับภาวะเครียดของร่างกาย การพักผ่อนน้อย และการที่เป็นคนคิดมากจนติดเป็นนิสัย
12.ช่วยทำให้ชีวิตยืนยาว และแข็งแรงแม้จะอายุมากขึ้น การเจ็บป่วยต่าง ๆ แม้จะพบบ้าง แต่ก็เป็นอาการเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อชีวิตมากนัก
13.ช่วยทำให้ดูอ่อนกว่าวัย เพราะการดูแลสุขภาพองค์รวมจะช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ให้ช้าลง จึงทำให้ดูเด็กกว่าอายุจริง
14.ทำให้มีความจำที่ดี ลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
ประเภทของการรักษาสุขภาพมีอะไรบ้าง?
ประเภทของการรักษาสุขภาพ แบ่งตามการรักษาเป็น 2 ชนิด ดังนี้
1.การรักษาสุขภาพกาย
สุขภาพกายคือการรักษาร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งเป็นส่วนของร่างกายของเราที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะภายนอกและระบบภายในต่าง ๆ เช่น กระดูก, หัวใจ, ตับ, ม้าม, สมอง, ลำไส้, ผิวหนัง, ดวงตา, แขน, ขา เป็นต้น ด้วยการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, หมั่นตรวจเช็คสุขภาพ และการเช็คสัญญาณความผิดปกติของร่างกายที่อาจเกิดขึ้น จะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที
2.การรักษาสุขภาพใจ
สุขภาพใจเป็นคนละส่วนกับสุขภาพกาย และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า นั่นก็คือความรู้สึกมีความสุข ทุกข์ เครียด เศร้า หรือแม้กระทั่งรู้สึกเฉย ๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะของจิตใจนั่นเอง แม้จะเป็นคนละส่วนกับร่างกายและอวัยวะ ทว่าส่งผลเชื่อมโยงกัน การรักษาสุขภาพใจให้ดี เป็นคนคิดบวก ไม่คิดมาก เผชิญปัญหาโดยไม่กดดันตัวเอง จะมีผลต่อต่อสุขภาพกายตามไปด้วย แต่ถ้าหากรู้สึกเครียด กังวล หรือตื่นตระหนก จะสังเกตได้ว่าจะเกิดภาวะหัวใจเต้นแรง ความดันสูง และอาจหน้ามืดเป็นลมได้
ข้อควรระวังในการรักษาสุขภาพ
1.ระมัดระวังการรับประทานอาหารเสริมที่ไม่มีคุณภาพ หรือโฆษณาเกินจริง เพราะอาจมีสารอันตรายเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย จนทำให้เกิดเจ็บป่วยตามมาได้
2.ควรรักษาสุขภาพด้วยวิธีที่ถูกต้อง ให้เหมาะสมกับตัวเอง ไม่ทำจนสุดโต่งเกินไป เพราะอาจกลายเป็นความเดือดร้อนต่อตัวเองและคนรอบข้าง
3.หากมีโรคประจำตัว การดูแลสุขภาพอาจแตกต่างจากคนปกติ ดังนั้นจะต้องศึกษาข้อมูลและปรึกษาแพทย์ประจำตัวด้วย เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจไปกระตุ้นให้โรครุนแรงขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน การใช้ชีวิตให้สมดุล ไม่ทำงานหนักจนเกินไป ไม่เครียดหรือกังวลกับปัญหาอยู่ตลอดเวลา พยายามเข้าใจธรรมชาติของชีวิต การเปลี่ยนแปลงตามเวลา ก็จะช่วยให้เราดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้อง และทำให้มีชีวิตที่เป็นสุข