ประโยชน์ของกระเทียม สรรพคุณ และอันตรายที่ควรรู้!
กระเทียมเป็นพืชที่มีประโยชน์ จัดอยู่ในกลุ่มไม้ล้มลุก ความสูงราว 35-50 เซนติเมตร จะมีหัวอยู่ชั้นใต้ดิน เป็นพืชที่น่าสนใจที่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและอาหารในหลาย ๆ ประเทศ มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Allium sativum L. ส่วนชื่อสามัญคือ Garlic อยู่ในวงศ์ ALLIACEAE นับเป็นพืชที่รนิยมปลูก และนำมาใช้ในอาหารมากที่สุดในประเทศไทย และมีประโยชน์ทางการแพทย์อีกด้วย
ส่วนประกอบของต้นกระเทียม
ส่วนประกอบของต้นกระเทียมตามลักษณะทางพฤกษศาสตร์ มีรายละเอียดดังนี้
- ลำต้น
ลำต้นของกระเทียมมีความเตี้ย สูงได้ราว 30-40 เซนติเมตร หัวอยู่ใต้ดินมีหลายกลีบเติบโตด้วยการเรียงซ้อนกันหลายชั้น ด้านนอกจะห่อหุ้มด้วยเปลือกหรือกาบสีขาวหรือม่วงอ่อน 2-3 ชั้นรอบหัว สามารถลอกออกได้ ส่วนกระเทียมโทน จะเป็นอีกสายพันธุ์ที่มีกลีบเดียว หากแกะออกจะพบหัวสีขาวครีม มีกลิ่นฉุนเป็นเอกลักษณะ สามารถรับประทานดิบได้ มีรสชาติเผ็ดร้อนเล็กน้อย - ดอก
ดอกกระเทียมมีรูปร่างคล้ายดอกหอม แต่มีขนาดเล็กกว่า สีของดอกเป็นสีขาวหรือสีชมพูอมม่วง ออกดอกเป็นกระจุกบนช่อ ก้านดอกยาวมีกาบหุ้ม - ใบ
ใบกระเทียมมีขนาดเล็ก ลักษณะใบเดี่ยว สีเขียวเข้ม มีรูปร่างยาวและแคบ คล้ายใบหญ้า ปลายแหลม ใบกระเทียมถูกใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร และมีกลิ่นและรสชาติเหมือนกระเทียม - ผล
ส่วนของผลกระเทียมนั้นคือส่วนหัวที่อยู่ใต้ดินที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ เนื้อภายในหัวเรียกว่าเนื้อกระเทียม และมีเนื้อสีขาวนวล โดยทั่วไปจะมีขนาดราว 2-4 เซนติเมตร ใน 1 หัวจะมีกลีบขนาดเล็กอยู่ด้านในหลายกลีบ แบ่งด้วยเยื่อสีขาวบาง สามารถลอกออกได้ - เมล็ด
เมล็ดกระเทียมจะถูกสร้างขึ้นจากดอกกระเทียมที่แก่จัด มีขนาดเล็ก ๆ สีดำจำนวนมากอยู่ภายใน - ราก
เป็นระบบรากฝอย เติบโตกระจายตัวในแนวดิ่งราว 20-30 เซนติเมตร จากผิวดิน มีสีขาวขุ่น เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงให้ลำต้น และเอาไว้สำหรับหาอาหาร
ประโยชน์และสรรพคุณของกระเทียม
1.กระเทียมมีสารสำคัญที่ชื่อว่าอะลิลิน (Allicin) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ลดความเสี่ยงในการเจริญเติบโตของโปรโตซัวหลาย ๆ ชนิด จึงทำหน้าที่ต้านการอักเสบได้ดี
2.สารซัลเฟอร์ในกระเทียม มีสรรพคุณช่วยลดการเกิดโรคหลายชนิด เช่น ลดความดันโลหิตสูง ลดระดับคอเลสเตอรอล และเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
3. การรับประทานกระเทียมเป็นประจำในสัดส่วนที่พอเหมาะ จะช่วยลดลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลและไขมันเลวในร่างกายให้น้อยลง
4.กระเทียมมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส ช่วยลดอาการเจ็บคอ และสามารถช่วยบรรเทาอาการหวัดได้
5.กระเทียมมีสารที่ช่วยเร่งกระบวนการย่อยอาหาร จึงช่วยกระตุ้นระบบทางเดินอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเอนไซม์ที่บริเวณทางเดินอาหารได้ด้วย
6.เป็นพืชสมุนไพรที่มักนำมาใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร เพิ่มมิติความหอมและความอร่อย และมักจะเป็นส่วนผสมที่ขาดไม่ได้ในพริกแกงชนิดต่าง ๆ ที่เป็นตัวช่วยเพิ่มเสน่ห์ด้านรสชาติ
7.หัวกระเทียมนิยมนำเอามาทำกระเทียมเจียว ด้วยการทอดในน้ำมันพืชจนสุก มีสีเหลือง กลิ่นหอม สามารถเก็บไว้ใช้เพื่อโรยหน้าอาหาร เป็นส่วนผสมในเมนูต้ม ช่วยทำให้อาหารอร่อยยิ่งขึ้น
8.สามารถนำเอากระเทียมสับหยาบมาคลุกเคล้ากับเนื้อสัตว์ เพื่อช่วยดับกลิ่นคาวก่อนนำไปปรุง ซึ่งจะได้ความหอมและรสชาติที่ดีขึ้นด้วย
9.ส่วนประกอบในหัวกระเทียมจะมีน้ำมัน ซึ่งมีสารประกอบหลายร้อยชนิด นิยมนำมาสกัดทำเป็นยาบำรุงในรูปแบบแคปซูล ช่วยบำรุงระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
10.กระเทียมมีสารชนิดหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 1 ได้มากขึ้น และเพิ่มการออกฤทธิ์ของวิตามินชนิดนี้ให้เร็วกว่าเดิม
11.ใบกระเทียมสด นิยมนำเอามาทำเป็นเมนูผัดกับเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ให้รสชาติเผ็ดเล็กน้อย เป็นส่วนที่มีกากใยมาก จึงให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และช่วยลดอาการท้องอืด
12.ช่วยตัดรสคาว และความเลี่ยน ด้วยการนำมาทำเป็นเครื่องเคียงอาหารหลายชนิดในรูปแบบกระเทียมสด เช่น กินคู่กับหมูสามชั้น อาหารทอด, ข้าวมันไก่, ข้าวขาหมู และหอยนางรมสด เป็นต้น
อันตรายหรือข้อควรระวังในการกินหรือใช้กระเทียม
1.หากรับประทานกระเทียมในปริมาณมากเกินไป จะทำให้มีกลิ่นตัวแรง และอาจรู้สึกแสบร้อนบริเวณช่องปากไปจนถึงกลางอก
2.การรับประทานกระเทียมดิบในกลุ่มคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร อาจทำให้เกิดอาการจุกเสียด มีลมในกระเพาะได้ เพราะในกระเทียมมีกรด ทำให้เกิดแก๊สตามมา
3.การบริโภคอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของน้ำมันกระเทียม อาจเป็นตัวการไปทำลายยาบางชนิดที่ต้องกินเป็นประจำ ลดประสิทธิภาพการทำงาน เสี่ยงที่จะทำให้โรคกำเริบขึ้นมาได้
4.ในกลุ่มที่กินยาสลายลิ่มเลือด เมื่อรับประทานกระเทียมสดเข้าไปด้วย จะมีฤทธิ์ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ยิ่งทำงานร่วมกับยา หากเกิดภาวะเลือดออก จะทำให้เสียเลือดมาก เลือดหยุดยาก เสี่ยงเข้าสู่ภาวะช็อกได้
กระเทียมมีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ แถมยังเป็นพืชในกลุ่มสมุนไพรและเครื่องเทศ มีประโยชน์อย่างมากมาย ด้วยความเฉพาะของมันจึงกลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน เป็นวัตถุดิบที่อยู่ในเมนูอาหาร ขนม และยังถูกนำไปประยุกต์รังสรรค์ประโยชน์ด้านการแพทย์แผนโบราณมาจนถึงทุกวันนี้