ลำโพงคืออะไร มีประโยชน์ ประเภท และข้อควรระวังในการใช้งานอย่างไรบ้าง?
ลำโพง(Speaker, Loudspeaker) คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่ง บางครั้งเรียกกันว่า ดอกลำโพง มีหน้าที่ในการเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าให้กลายเป็นพลังงานเสียง ดังนั้นเมื่อต้องการให้เกิดเสียง จะต้องมีการป้อนสัญญาณไฟฟ้าเข้าสู่ขดลวด และลำโพงจะถูกเชื่อมต่อกับเครื่องขยายสัญญาณเสียงอีกที เพื่อให้เกิดคลื่นเสียงดังออกมา อุปกรณ์ชนิดนี้มีให้เลือกหลากหลายแบบ หลายขนาด รูปทรง คุณภาพ ไปจนถึงฟังก์ชั่น ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ส่วนประกอบหลักคือ ตู้ลำโพงด้านนอก และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ด้านใน เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในระบบเครื่องเสียง
การประดิษฐ์ลำโพงเริ่มเกิดขึ้นในปลายปี ค.ศ.1800 เป็นช่วงภายหลังที่ระบบโทรศัพท์พัฒนาขึ้น ในช่วงนั้นนิยมใช้งานในเครื่องวิทยุ เครื่องอัดเสียง และระบบเสียงในโรงภาพยนตร์ เป็นระบบไดนามิก(Dynamic speaker) คิดค้นโดย Edward W. Kellogg และ Chester W. Rice ซึ่งทำงานด้วยหลักการไม่ต่างจากไมโครโฟน ต่างกันเพียงการย้อนกลับของสัญญาณไฟฟ้าเพื่อใช้ในการสร้างเสียง ต่อมามีการคิดค้นลำโพงระบบแอคทีฟ(Active speaker)ขึ้นมา ซึ่งนิยมใช้งานภายในห้องสตูดิโอ สำหรับการบันทึกเสียง หรืองานที่มีความซับซ้อน และความนิยมของระบบเครื่องเสียงชนิดนี้ได้แพร่หลายไปทั่วโลก จนกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่สร้างกำไรในแต่ละปีได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว
ประโยชน์ของลำโพง
1.ทำหน้าที่เป็นเครื่องขยายเสียง โดยจะแปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็นคลื่นเสียงที่มนุษย์ได้ยิน ทำให้เราสามารถฟังเพลง ได้ยินเสียงพูด หรือเสียงอื่น ๆ ในระดับที่สูงขึ้นได้
2.ลำโพงได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างรูปแบบเสียงที่มีความแม่นยำและชัดเจน สามารถสร้างช่วงความถี่ที่หลากหลาย ตั้งแต่โทนเสียงเบสต่ำไปจนถึงเสียงความถี่สูง ทำให้เกิดการถ่ายทอดเสียงเพลงออกมาได้อย่างมีมิติมากขึ้น
3.เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สร้างความบันเทิง เช่น โฮมเธียเตอร์ หรือการใช้ในคอนเสิร์ต ทำให้ผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลินกับสื่อที่รับชม เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ หรือการแสดงต่าง ๆ ด้วยเสียงคุณภาพสูง ทำให้เกิดความดื่มด่ำ เข้าถึงบรรยากาศ
4.ใช้งานเพื่อขยายเสียงประกาศให้ผู้คนจำนวนมากได้ยิน โดยไม่ต้องตะโกน สามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที อำนวยความสะดวกให้ผู้คนเข้าใจสถานการณ์ได้ตรงกัน
5.ลำโพงมีความสำคัญ ใช้เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ในการแพร่ภาพ รวมถึงวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งลำโพงจะส่งสัญญาณเสียงเพื่อเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากได้อย่างสะดวกสบาย
6.ลำโพงในปัจจุบันมีความสะดวกสบายในการพกพามากขึ้น สามารถติดกระเป๋านำไปใช้งานเชื่อมต่อระบบกับระบบเครื่องเสียงในที่อื่น ๆ ได้
7.ลำโพงในปัจจุบันสามารถทำหน้าที่เล่นไฟล์เสียง เมื่อเสียบเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ทันที จึงทำให้เกิดความสะดวกสบาย เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งหรืองานสังสรรค์ที่ต้องเคลื่อนย้ายระบบเสียงอยู่บ่อย ๆ
8.ลำโพงที่มีคุณภาพสูงจะให้เสียงที่ไพเราะ นุ่มนวล มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความดื่มด่ำไปกับความบันเทิงอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการเปิดเพลงบรรเลง หรือเพลงกล่อม ช่วยให้ผ่อนคลาย และนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
9.ลำโพงมีบทบาทสำคัญในการทำให้บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถเข้าถึงเสียงได้ บางสถานที่จะมีการเชื่อมต่อลำโพงกับระบบช่วยฟัง ที่ส่งเสียงโดยตรงไปยังเครื่องช่วยฟังหรืออุปกรณ์พิเศษ ทำให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการได้ยิน เข้าถึงเสียงได้ชัดเจนมากขึ้น
10.ลำโพงไร้สาย หรือลำโพงบลูทูธ สามารถใช้เป็นอุปกรณ์รับโทรศัพท์โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับมือได้ ด้วยการเชื่อมต่อสัญญาณเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความสะดวกในการพูดคุย
11.เป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงที่สามารถมอบให้เป็นของขวัญกับคนใกล้ชิด หรือใช้เป็นของชำร่วยขนาดเล็ก ช่วยให้ผู้รับสามารถนำไปใช้งานได้
ประเภทของลำโพง
ประเภทของลำโพงหรือดอกลำโพง มีการจัดแบ่งประเภทตามประสิทธิภาพของการใช้งาน ดังนี้
1.Subwoofer
เป็นลำโพงที่เน้นใช้งานสำหรับการขับเสียงที่มีความถี่ต่ำสุด หรือที่เราเรียกกันว่า “เบส” ช่วงความถี่ประมาณ 20-200 Hz มักจะเป็นตู้แยกออกจากลำโพงหลัก มีวงจรสำหรับขยายสัญญาณเฉพาะในตัว
2.Tweeter
ลักษณะลำโพงที่มีขนาดเล็กสุดที่ติดตั้งอยู่ในตู้ลำโพง หน้าที่เพื่อเน้นขับเสียงสูงหรือเสียงแหลม โดยจะทำงานกับควมถี่ในช่วง 2,000 Hz – 20,000 Hz
3.Woofer
ส่วนประกอบขนาดใหญ่สุดที่ติดตั้งกับตู้ลำโพง ออกแบบมาเพื่อใช้งานให้เสียงความถี่ต่ำที่มีความเหมาะสม หากเป็นลำโพงที่มีคุณภาพ มีวููฟเฟอร์ที่ดี ก็แทบไม่จำเป็นต้องใช้ซัพวูฟเฟอร์เข้ามาช่วย แต่กระนั้นก็สามารถนำมาใช้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความกลมกลืน นำไปสู่เสียงที่ดีได้
4.Mid-range driver
เป็นลำโพงขนาดกลา ทำงานในย่านความถี่ 250 Hz-2,000 Hz ซึ่งเรียกว่า ‘mid’ frequency เป็นระดับความถี่ทั่วไป ให้เสียงปกติ คือไม่สูงหรือต่ำเกินไป เป็นเสียงช่วงกลาง ๆ นั่นเอง
ข้อควรระวังในการใช้งานลำโพง
1.หากเปิดลำโพงเสียงดังเกินไป อาจมีผลต่อแก้วหู ทำให้หูดับชั่วขณะ หรือเกิดเปิดฟังเสียงดังบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดอาการหูตึงในระยะยาวได้
2.หากตั้งลำโพงขนาดใหญ่ในตำแหน่งพื้นเอียง เสี่ยงที่จะล้มลงมาล้มทับคนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวจนเกิดบาดเจ็บได้
3.หากวางวัตถุที่เป็นแหล่งกำเนิดเปลวไฟเอาไว้บนตู้ลำโพง เช่น เทียนไขที่จุดไฟ หรือ กระถางธูป อาจเสี่ยงเกิดอัคคีภัยร้ายแรงตามมา
ลำโพงถือว่าเป็นหนึ่งในระบบเครื่องเสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความน่าสนใจ ใช้งานเพื่อประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มระดับเสียง และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประสบการณ์ความบันเทิง