ฟิล์มกันรอยคืออะไร มีประโยชน์ ประเภท และอันตรายอะไรบ้าง?
ฟิล์มกันรอย(Screen Protector) คือ ฟิล์มที่ออกแบบมาสำหรับใช้กันรอยบนหน้าจอต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ, แท็บเลต, โน้ตบุค, ทีวี ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ โดยหน้าที่หลักคือปกป้องหน้าจอจากรอยขีดข่วน รอยขูด และความเสียหายอื่นที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้งาน
ต้นกำเนิดในการผลิตฟิล์มชนิดนี้ยังไม่ทราบที่มาแน่ชัด ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนแต่อย่างใด แต่สามารถสืบย้อนไปถึงยุคแรก ๆ ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาและหน้าจอสัมผัสได้ หนึ่งในตัวอย่างแรกสุดของการป้องกันหน้าจอย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1960 เมื่อหน้าจอสัมผัสตัวแรกได้รับการพัฒนา หน้าจอสัมผัสเหล่านี้ต้องการชั้นป้องกันความเสียหายจากการป้อนข้อมูลด้วยปากกาที่เรียกว่าสไตลัส(Stylus)
อย่างไรก็ตาม แนวคิดของฟิล์มกันรอยหน้าจอที่เราคุ้นชินในปัจจุบัน เริ่มแพร่หลายมากขึ้นเมื่อโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้นในปลายทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 เนื่องจากอุปกรณ์เคลื่อนที่เริ่มใช้หน้าจอแก้วหรือพลาสติกที่บอบบางมากขึ้น ความต้องการในการป้องกันต่อรอยขีดข่วนต่าง ๆ และเพื่อให้โทรศัพท์มือถือคงสภาพใหม่เอาไว้ได้นาน โดยฟิล์มป้องกันรุ่นแรก ๆ จะผลิตจากพลาสติกที่มีความใสและบาง เน้นความเรียบง่าย
ด้วยการนำสมาร์ทโฟนมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเปิดตัว iPhone เครื่องแรก ความต้องการอุปกรณ์ป้องกันหน้าจอเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีตัวป้องกันจอต่าง ๆ จึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาตัวเลือกขั้นสูง เช่น ตัวป้องกันกระจกเทมเปอร์และตัวฟิล์มกรองที่ให้ความเป็นส่วนตัว
ตั้งแต่นั้นมา แผ่นฟิล์มกันรอยหน้าจอก็กลายเป็นอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นสำหรับอุปกรณ์หน้าจอสัมผัสส่วนใหญ่ โดยนำเสนอคุณสมบัติที่หลากหลายในการปกป้องหน้าจอและปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้ ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้า แน่นอนว่าฟิล์มกันรอยยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง
ประโยชน์ของฟิล์มกันรอย
1.เป็นเสมือนตัวช่วยป้องกันรอยขีดข่วนหน้าจอได้ในระดับหนึ่ง ทำให้หน้าจอด้านในได้รับการปกป้อง เสมือนเกราะที่ช่วยดูดซับรอยขีดข่วนไม่ให้ลงไปถึงด้านล่างได้ง่าย ๆ
2.ฟิล์มกันรอยบางยี่ห้อมีคุณภาพสูง สามารถทนทานต่อแรงกระแทกได้ ช่วยลดความเสี่ยงเมื่อหน้าจออาจกระแทกไปโดนขอบโต๊ะ หรือโดนของแข็งต่าง ๆ เมื่อถูกเก็บไว้ในกระเป๋า
3.เป็นตัวช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับอุปกรณ์ที่มีหน้าจอได้อย่างดีเยี่ยม ลดปัญหาหน้าจอมองเห็นไม่ชัด หรือเกิดอุปสรรคในการใช้งานจอจากรอยขีดข่วนได้
4.ช่วยป้องกันลายนิ้วมือที่สัมผัสโดนหน้าจอ ด้วยสารเคลือบ Oleophobic Coating ซึ่งช่วยลดรอยนิ้วมือ ฝุ่น คราบสกปรก ไปจนถึงรอยเปื้อนต่าง ๆ ทำให้หน้าจอมีความสะอาดและมองเห็นได้ชัด
5.ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัว ด้วยการเลือกใช้ฟิล์มแบบพิเศษ เพราะสามารถจำกัดมุมมองหน้าจอไม่ให้ผู้อื่นแอบดูข้อมูลที่ละเอียดอ่อนได้ขณะใช้งานในพื้นที่สาธารณะ
6.ฟิล์มกันรอยบางรุ่นมีตัวกรองแสงสีฟ้าเพื่อลดอาการปวดตา ช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะคนที่ต้องนั่งทำงานดึก ๆ ติดต่อกัน จนอาจทำให้เกิดอาการสายตาล้า
7.การลงทุนซื้อฟิล์มกันรอยเป็นวิธีที่ประหยัดในการปกป้องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาแพงจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันระวัง
8.ตัวป้องกันหน้าจอที่มีคุณภาพจะรักษาการตอบสนองของหน้าจอสัมผัสได้ดีขึ้น ช่วยให้การใช้งานง่าย
9.ฟิล์มกันรอยบางตัวมีคุณสมบัติป้องกันแสงสะท้อน ทำให้ใช้งานอุปกรณ์ในพื้นที่กลางแจ้ง หรือในสภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างจ้าได้ง่าย
10.การทำความสะอาดฟิล์มกันรอยหน้าจอ โดยทั่วไปจะง่ายกว่าการทำความสะอาดหน้าจอจริงของอุปกรณ์ เนื่องจากมีโอกาสเกิดรอยเปื้อนได้น้อยกว่า
ประเภทของฟิล์มกันรอย
ฟิล์มกันรอยโดยทั่วไปจะแบ่งประเภทได้ตามลักษณะของเนื้อฟิล์มที่นำมาใช้ผลิตได้เป็น 2 ชนิดด้วยกัน ดังนี้
1.ฟิล์มกันรอยแบบเนื้อพลาสติก PET
เนื้อพลาสติกที่ผลิตออมาเป็นชนิดเดียวกันกับที่นำไปใช้ผลิตขวดน้ำ หรือบรรจุภัณฑ์สำหรับทำอาหาร ส่วนใหญ่เน้นใช้งานเพื่อป้องกันรอยขีดข่วนได้อย่างเยี่ยม แต่หากเกิดการกระแทก ฟิล์มชนิดนี้จะไม่สามารถช่วยได้ เป็นชนิดที่มีราคาถูก เมื่อใช้งานและโดนนิ้วสัมผัส จะมีรอยเกิดขึ้นได้ง่ายและมีความชัด
2.ฟิล์มกันรอยแบบใส TPU
ลักษณะฟิล์มกันรอยแบบใส ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย คุณสมบัติพิเศษคือเหนียวและยืดหยุ่นได้สูง ป้องกันรอยขีดข่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อใช้มือสัมผัสโดน โอกาสเกิดเป็นรอยนิ้วมือจะน้อยกว่า อย่างไรก็ตามยังคงไม่สามารถช่วยซับแรงกระแทกที่อาจทำให้หน้าจอแตกได้
อันตรายที่ควรระวังในการใช้งานฟิล์มกันรอย
1.ฟิล์มที่ไม่มีคุณภาพ หรือโฆษณาเกินจริง อาจทำให้ไม่สามารถช่วยปกป้องสายตาจากแสงสีฟ้าได้ เมื่อใช้งานไปนาน ๆ จะทำให้เกิดอาการตาล้า จนรู้สึกปวดเบ้าตา ศีรษะ หรือรุนแรงจนถึงขั้นเวียนหัว อาเจียนตามมาได้
2.ฟิล์มบางชนิดที่มีความหนา อาจเกิดรอยแตกร้าวขึ้น เมื่อหลุดล่อนตกพื้นโดยไม่ทันได้มอง หากผิวหนังสัมผัสโดน อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ เป็นแผลเลือดออกเพราะความคมของส่วนที่แตกหักหลุดออกมา
3.ฟิล์มที่มีการหักเหของแสงไม่ดี จะส่งผลเสียต่อสายตาอย่างหนักเมื่อใช้งานกลางแจ้ง ทำให้เกิดอาการปวดตาอย่างหนักเมื่อใช้งานไปได้สักระยะ
เมื่อใช้ฟิล์มกันรอยหน้าจอ สามารถช่วยรักษาสภาพหน้าจอให้ดูเหมือนใหม่ ช่วยยืดอายุการใช้งานในระยะยาว เพราะฉะนั้นการเลือกฟิล์มที่มีคุณภาพ จะช่วยรักษาคุณสมบัติเหล่านี้เอาไว้ได้