ไวพจน์ คืออะไร ?
ไวพจน์ คือ คำที่เขียนต่างกัน แต่มีความหมายเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกันมาก ใช้เพื่อแสดงความหมายแทนกันได้ เช่น นก ปักษา ปักษิน ปักษี วิหค วิหงค์, เรียกอีกอย่างว่า “คำพ้องความ” คำที่มีความหมายพ้องกัน ไปในทางเดียวกัน
สมัยก่อน คำว่า ไวพจน์ ใช้หมายถึง คำพ้องเสียง เช่น โจท โจทย์ โจทก์ โจษ (หนังสือแบบเรียนภาษาไทยของพระยา ศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร))
ประโยชน์ คืออะไร ?
พจนานุกรมออนไลน์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายของ คำว่า “ประโยชน์” ดังนี้
ประโยชน์ [ปฺระโหฺยด] น. สิ่งที่มีผลใช้ได้ดีสมกับที่คิดมุ่งหมายไว้, ผลที่ได้ตามต้องการ, สิ่งที่เป็นผลดีหรือเป็นคุณ, เช่น ประโยชน์ของการศึกษา ประโยชน์ของโรงเรียน. (ส. ปฺรโยชน; ป. ปโยชน).
ไวพจน์ของคำว่า ประโยชน์
คุณประโยชน์
งอกเงย
ปรหิตะ
ประโยชน์
รายได้
สารประโยชน์
สารัตถประโยชน์ลาภงอก
หิต-
หิต
หิตประโยชน์
หิตานุหิตประโยชน์
อรรถกร
อรรถประโยชน์
อัตถะ
อัตถ์
อัตหิต
อัตหิต-
อาณาประโยชน์
อาสิน
เข้ายา
ที่มา : wordyguru.com
ไวพจน์ของ ประโยชน์ ตามที่ผมนำมาจากเว็บไซต์ข้างบนนี้ บางคำผมก็ไม่เคยได้ยิน และไม่เข้าใจความหมาย เช่น คำว่า “เข้ายา” แต่เมื่อใช้คำว่า “เข้ายา” ค้นดูในพจนานุกรมออนไลน์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ก็มีคำนี้จริง ๆ ซึ่งพจนานุกรมให้ความหมายว่า ก. เป็นประโยชน์, ใช้การได้, เปรียบกับวัตถุหรือพืชที่ทำยาได้.
อีกคำหนึ่งที่ผมเข้าใจผิดคิดว่ามีความหมายเหมือนกัน ใช้แทนกันได้กับคำว่า “ประโยชน์” นั่นคือคำว่า “ข้อดี” เช่น เมื่อเราได้ยินคำว่า ประโยชน์ของนาฬิกา กับ ข้อดีของนาฬิกา เรามักเข้าใจว่ามันคือสิ่งเดียวกัน แต่ผู้รู้ทางด้านภาษาอธิบายว่า ไม่ใช่สิ่งเดียว เช่น
ประโยชน์ของนาฬิกา ใช้ดูเวลา ใช้จับเวลา
ข้อดีของนาฬิกา ระบุเวลาได้อย่างแม่นยำ หรือ มีความคงทนถาวร พกติดตัวง่าย ดูเวลาได้ทุกเมื่อ
พจนานุกรมออนไลน์ Oxford Languages จำกัดความหมายของคำว่า “ข้อดี” ดังนี้ คำนาม ส่วนเด่นที่เป็นคุณประโยชน์.
ถ้าดูจากคำจำกัดความนี้แล้ว ควายหมายของคำว่า “ข้อดี” ใกล้เคียงไปในทางเดียวกันกับคำว่า “ประโยชน์” เพราะคำว่า “คุณประโยชน์” ก็เป็นไวพจน์ของ คำว่า “ประโยชน์” แต่ก็พอสรุปได้ว่า “ข้อดี” ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 2 ประการ 1.เป็นส่วนเด่นหรือจุดเด่นของสิ่งนั้น 2. มีประโยชน์ แต่ถ้ามีแต่จุดเด่น ไม่มีประโยชน์ เรียกว่า “ข้อเสีย”