แฟลชไดรฟ์คืออะไร มีประโยชน์ วิธีเลือกใช้งานและอันตรายอะไรบ้าง?
แฟลชไดรฟ์(Flash Drive, USB flash drive) คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ใช้งานด้วยการเสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุค เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลด้วยการคัดลอกเอาไว้ หรือแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการถ่ายโอนข้อมูลต่าง ๆ ไปยังเครื่องคอมฯ ตัวอื่นได้
การประดิษฐ์แฟลชไดรฟ์ขึ้นมา เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง เพื่อต้องการแก้ปัญหาการถ่ายโอน และการเก็บข้อมูลที่ยุ่งยากแบบเดิม ๆ มีขนาดเล็กกะทัดรัด พกพาได้สะดวก กลายเป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน และมีหน่วยความจำให้เลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้งาน
การทำงานของตัวเครื่องเริ่มต้นที่ได้รับความนิยมมีตั้งแต่ขนาด 2GB ไปจนถึง 1TB โดยมักเรียกกันด้วยชื่อต่าง ๆ เช่น ยูเอสบีไดรฟ์ (USB drive), ทัมบ์ไดรฟ์(ThumbDrive), จัมป์ไดรฟ์(Jump drive)เป็นต้น ระบบการเก็บข้อมูลจะทำงานร่วมกับยูเอสบี โดยเทคโนโลยีชนิดนี้พัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.2000 ซึ่งเป็นยุค ยูเอสบี 2.0 ก่อนจะพัฒนาไปสู่ 3.0 ในปี ค.ศ.2008 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการอ่านและเขียนข้อมูลได้เร็วขึ้นกว่ารุ่นแรกถึง 10 เท่า นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเป็นยูเอสบี 3.1 แบ่งออกเป็น Gen 1 และ Gen 2 ซึ่งเน้นเพื่อรองรับการรับและส่งข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ประโยชน์ของแฟลชไดรฟ์
1.เป็นพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้งานนอกสถานที่ โดยไม่จำเป็นต้องยกโน้ตบุคไปทั้งเครื่อง
2.เป็นที่เก็บข้อมูลสำรอง เพราะสามารถคัดลอกไฟล์จากคอมฯ มาเก็บไว้ กรณีไฟล์จากเครื่องหลักสูญหาย จะได้มีไฟล์สำรองไว้ใช้งานได้
3.สามารถเก็บข้อมูลได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เอกสารสำคัญ, รูปภาพ, วิดีโอ, ภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น
4.ใช้งานไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมใด ๆ ก่อนให้เสียเวลา เพียงแค่เสียบเข้ากับช่องต่อ USB ก็ใช้งานได้เลย
5.ความจุข้อมูลมีหลากหลาย และมีให้เลือกถึงระดับ TB จึงเป็นเหมือนฮาร์ดไดรฟ์พกพาที่สะดวกสบาย เก็บข้อมูลในปริมาณมาก ๆ ได้ในอุปกรณ์เพียงอันเดียว
6.ใช้เก็บไฟล์เพลง MP3 เอาไว้เปิดฟังในรถ หรือเสียบกับอุปกรณ์อื่นที่รองรับสำหรับฟังเพลงได้อย่างรวดเร็ว
7.ทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำหรับถ่ายโอนข้อมูลจากคอมฯ เครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องเสียบสายเชื่อมต่อใด ๆ ให้ยุ่งยาก
8.สามารถใช้เป็นของชำร่วยที่มีความทันสมัยไม่เหมือนใคร ด้วยการอัพโหลดไฟล์วิดีโอ หรือไฟล์ภาพที่น่าประทับใจลงไปไว้ในนั้น เพื่อให้ผู้รับสามารถนำกลับไปรับชมที่บ้านได้
9.เป็นอีกช่องทางใช้สร้างรายได้ให้กับคนที่ต้องการเปิดคอร์สสอนต่าง ๆ โดยการขายคอร์สวิดีโอ และข้อมูลการสอน และขายให้กับผู้ที่สนใจเรียน
10.สามารถปริ้นแบรนด์โลโก้ของบริษัทติดเอาไว้ และนำไปแจกให้กับลูกค้า เพื่อสร้างความประทับใจ ถือว่าเป็นการตลาดที่ดี เพราะสามารถนำไปใช้งานได้
11.ใช้ถ่ายโอนข้อมูลระหว่างมือถือกับคอมพิวเตอร์ได้ ด้วยแฟลชไดรฟ์รุ่นใหม่ ๆ ที่มีหัวเสียบรองรับการเชื่อมต่อ ทำให้ดึงข้อมูลจากมือถือเข้าสู่คอมพิวเตอร์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
วิธีเลือกใช้งานแฟลชไดรฟ์
1.พิจารณาความจำเป็นในการใช้งานว่าจะใช้เพื่อเก็บข้อมูลที่สำคัญมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้เลือกซื้อแบรนด์ที่มีคุณภาพ ซึ่งมีราคาที่แตกต่างกัน
2.เลือกระดับความจุที่เหมาะสมเพื่อให้คุ้มค่า ยิ่งความจุมาก ยิ่งมีราคาแพง หากเป็นการเก็บไฟล์เอกสารทั่วไป มีขนาดไฟล์ไม่ใหญ่มาก สามารถเลือกระดับความจุที่ 4GB – 6GB ก็ถือว่าเพียงพอ แต่หากเป็นการเก็บข้อมูลวิดีโอ, ไฟล์งานกราฟฟิก, ไฟล์หนัง หรือไฟล์ที่มีความละเอียดสูง แนะนำว่าให้เลือกความจุตั้งแต่ 32GB ขึ้นไป จนถึง 128GB
3.เลือกระดับความเร็วที่เหมาะสมในการอ่านและเขียนข้อมูล เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการทำงาน ซึ่งจะเขียนระบุเอาไว้ที่ฉลาก ให้ดูที่ข้อมูล Read Speed และ Write Speed
4.เช็คดูว่าพอร์ต USB ที่เชื่อมต่อเป็นรุ่นไหน ให้เลือกซื้อแฟลชไดรฟ์ที่มีความใกล้เคียงกัน ซึ่งจะช่วยให้การถ่ายโอนข้อมูลมีประสิทธิภาพตรงกันมากที่สุด
อันตรายที่ควรระวังในการใช้งานแฟลชไดรฟ์
1.อาจเกิดการแฮคข้อมูลสำคัญได้โดยไม่ทันระวังตัว จากโปรแกรมที่ถูกฝังเอาไว้ภายในแฟลชไดรฟ์ เมื่อนำมาเสียบเข้ากับเครื่องคอมฯ ตัวอื่น อาจถูกดูดข้อมูล หรือโดนไวรัสเข้าไปทำลายระบบจนเสียหายหนักได้
2.หากตัวอุปกรณ์แฟลชไดรฟ์ไม่มีคุณภาพ เสี่ยงที่จะเกิดความร้อนสูงขณะใช้งานจนเกิดไฟไหม้ ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่ด้วยเสียหายตามมา
3.หากทำอุปกรณ์ร่วงหาย และมีผู้ไม่หวังดีเก็บได้ อาจทำให้ข้อมูลที่เป็นความลับภายในถูกเปิดเผย
4.แฟลชไดรฟ์ในปัจจุบันดีไซน์ให้มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ เพื่อความสะดวกในการพกพา ซึ่งอาจมีขนาดเล็กจนถึงขั้นที่เด็กสามารถหยิบเข้าปากและกลืนลงไปในคอ ทำให้เกิดอันตรายจากสารพิษ หรือเข้าไปติดหลอดลม เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
อุปกรณ์แฟลชไดรฟ์เป็นตัวช่วยที่ทำให้งานในระบบคอมพิวเตอร์กลายเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งข้อมูลขนาดใหญ่ภายในองค์กร หรือการเก็บไฟล์ข้อมูลสำคัญสำรองเอาไว้ในยามฉุกเฉิน ไปจนถึงการพกพาที่สะดวก รองรับไฟล์ขนาดใหญ่มาก ๆ ได้ จึงไม่แปลกที่อุปกรณ์ชนิดนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนไปโดยปริยาย