กฐินในที่นี้ หมายถึง พิธีกรรม หรือผ้าที่ถวายภิกษุสงฆ์ในช่วงออกพรรษา โดยมีกำหนดช่วงระยะเวลา ๑ เดือน คือนับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เรียกพิธีการถวายผ้านี้ว่า กฐิน หรือพิธีการถวายผ้ากฐิน
ประโยชน์ หรือข้อดีของการจัดงานถวายผ้ากฐิน
1. เป็นการส่งเสริมพระภิกษุที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ในการจำพรรษาตามพุทธบัญญัติ นอกจากนั้นเป็นการอำนวยความสะดวกแก่พระภิกษุในการแสวงหาผ้าเพื่อใช้ทำเป็นจีวรนุ่งห่ม
2.เป็นการเทิดทูนพระพุทธบัญญัติเรื่องกฐินให้คงอยู่สืบไป นับได้ว่าเป็นการบูชาพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติบูชาส่วนหนึ่ง (คือเป็นการปฏิบัติตามคำสอนของท่าน)
3.เป็นการสืบต่อประเพณีกฐินทาน มิให้เสื่อมสลายไปจากวัฒนธรรมประเพณีไทย ซึ่งบรรพบุรุษได้นำสืบต่อกันมาโดยมิขาดสาย
4.การถวายผ้ากฐินเป็นสังฆทานอย่างหนึ่ง คือเป็นการถวายทานโดยมิเจาะจงบุคคลโดยเฉพาะ แต่เป็นการถวายแก่หมู่สงฆ์เป็นส่วนรวม อันว่าสังฆทานี้พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ว่ามีผลานิสงส์มาก
5.การร่วมบำเพ็ญกฐินทาน ชื่อว่าเป็น “กาลทาน” คือเป็นทานที่ถวายได้ภายในเวลาที่มีพระพุทธานุญาตไว้ เมื่อเป็นกาลทาน คือการให้ทานในกาลอันเป็นพิเศษ จึงเชื่อว่า มีอานิสงส์เป็นพิเศษ
6.การจัดงานกฐิน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการร่วมมือร่วมใจกันของคนจำนวนมาก ใช้คนจำนวนมาก จึงเป็นกิจกรรมเสริมสร้างพลังสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชม
7..ในการถวายผ้ากฐินแต่ละครั้ง นิยมถือโอกาสถวายบริวารกฐินด้วย เป็นต้นว่า อัฐบริขาร หรือ ปัจจัย เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา ซ่อมแซมเสนาสนะต่าง ๆ
8.กฐินสามัคคีทำให้ลูกหลาน ญาติที่อยู่ต่างถิ่นได้เดินทางมาทำบุญ มีโอกาสได้พบปะกัน
9.ผู้ถวายผ้ากฐิน ย่อมได้รับอานิสงส์ตามกำลังแห่งบุญของตน
10.งานกฐินเป็นกระบวนการส่งเสริมความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่พระภิกษุ คือ พระภิกษุในอาวาสนั้นต่างก็ต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือพิธีกรรมนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ อาจจะกล่าวได้ว่า ความสามัคคี คือ หัวใจสำคัญของงานกฐินก็ว่าได้
11.กฐินพระพุทธองค์ทรงอนุญาตโดยพระองค์เอง จึงถือว่าเป็นบุญพิเศษของพุทธศาสนิกชน เหตุว่ากฐินทำได้ปีละครั้ง ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ด้วยข้อจำกัดของกาลเวลาทานนี้ จึงเป็นทานพิเศษที่เรียกว่า กาลทาน
12.การจัดงานกฐิน เป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง เพราะว่า การที่พุทธศาสนิกชนจากท้องถิ่นหนึ่ง ได้นำเงินบริวารกฐินไปถวายแก่วัดในท้องถิ่นอื่น ๆ นั้น ถือว่า เป็นการหมุนเวียนของเงินเป็นอย่างดี ส่งเสริมให้เกิดอาชีพ รายได้ของคนในท้องถิ่น เช่น การค้าขาย การก่อสร้าง เป็นต้น