วันลอยกระทงคืออะไร มีประโยชน์ และข้อดี-ข้อเสีย อะไรบ้าง?
วันลอยกระทง (Loy Krathong Day) คือ ประเพณีของไทยที่ได้รับการสืบสานมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ กิจกรรมหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นพิธีขอขมาแม่น้ำคงคา จะจัดขึ้นในช่วงกลางคืน วันเพ็ญเดือน 12 หรือขึ้น 15 คำ เดือน 12 เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง และน้ำขึ้นจนเกือบเต็มตลิ่ง กลายมาเป็นบทเพลงวันลอยกระทงที่คุ้นหูกันมา
ในประเพณีลอยกระทง จะมีการประดิษฐ์กระทงขึ้นมา สมัยก่อนจะใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นกล้วยมาออกแบบ รูปทรงเหมือนดอกบัวขนาดใหญ่ ด้านในมีการปักดอกไม้ ธูป เทียน หรือสิ่งของอื่น ๆ ลงไปด้วยตามความเชื่อ โดยกระทงจะไหลไปตามผิวน้ำ ไม่จมลงไป วัตถุประสงค์ตามความเชื่อก็เพื่อขอขมาที่อาจทิ้งของเสีย หรือทำร้ายแม่น้ำคงคา ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาศัยปกปักษ์รักษาแม่น้ำแห่งนั้น ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้อภัย และไม่ถือโกรธเคือง
นอกจากนี้พิธีลอยกระทงยังเป็นพิธีของพราหมณ์ บูชาพราะผู้เป็นเจ้าทั้งสามที่นับถือ ดังนั้นจึงไม่ใช่ประเพณีของไทย แต่ยังพบได้ในประเทศอินเดีย, เขมร ลาว และ พม่า อีกด้วย โดยพิธีก็จะไม่แตกต่างจากของไทยมากนัก

ประโยชน์ของวันลอยกระทง
1.การลอยกระทงเป็นประเพณีที่สืบสวนความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว และผู้คนในพื้นที่ ได้ออกมาพบปะเจอหน้ากัน ได้ร่วมกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดความสามัคคีมากขึ้น
2.ได้ร่วมกันสร้างความสนุกสนานภายในครอบครัว โดยการคิดออกแบบประดิษฐ์กระทงสำหรับลอยน้ำ
3.เป็นเหมือนการช่วยสืบต่อประเพณีอันงดงามที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเอาไว้ เพราะในวันลอยกระทงจะมีกิจกรรมปฏิบัติธรรม ตักบาตร และฟังเทศ อยู่ด้วย
4.ทำให้เกิดความรู้สึกเบิกบานใจ เบาสบาย ตามความเชื่อว่าการลอยกระทงคือการขอขมาและบูชาพระแม่คงคา ทำให้เกิดความรู้สึกปิติยินดีในใจ
5.กระทงในปัจจุบันที่ใช้วัสดุที่มาจากขนมปัง เมื่อลอยไปกับน้ำแล้วจะย่อยสลายกลายเป็นอาหารปลาได้
6.กิจกรรมนางนพมาศที่จัดขึ้นในวันลอยกระทง ทำให้เด็ก ๆ ได้ร่วมสนุกสนานไปกับการแต่งกายด้วยชุดไทยที่สวยงาม
7.วันลอยกระทง จะมีคนที่ทำกระทงขายอยู่ตามหน้าวัด เป็นเหมือนวันที่ช่วยเสริมรายได้ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้
8.ได้ตระหนักถึงการที่มนุษย์เป็นผู้ทำความเสียหายให้กับแม่น้ำ เช่น การทิ้งขยะ หรือสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำ วันลอยกระทงจะทำให้เกิดความตระหนักละอายใจ เป็นการช่วยกระตุ้นจิตสำนึกให้คนอยากดูแลแม่น้ำลำคลองให้สะอาดมากขึ้น
9.เป็นวันที่สืบสานกิจกรรมการละเล่นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ให้สูญหาย เช่น รำวงเพลงเรือ, การประกวดนางนพมาศ, กิจกรรมแห่กระทง, กิจกรรมเล่นพลุไฟ และกิจกรรมโคมลอย เป็นต้น
10.ในวันลอยกระทงเป็นโอกาสอันดีที่พ่อค้าแม่ค้าจะได้หารายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น ด้วยการขายอาหารและเครื่องดื่มภายในงาน
เทคนิคการลอยกระทงให้ปลอดภัย
1.ลอยกระทงในพื้นที่ ๆ ปลอดภัย เป็นท่าเรือที่มีโป๊ะแข็งแรง ผู้คนไม่หนาแน่นจนดูเป็นอันตราย
2.ระยะระหว่างแม่น้ำกับพื้นดินจะต้องเอื้อมหากันง่าย ไม่สูงชันจนเสี่ยงตกน้ำ
3.เลือกใช้กระทงที่ลอยน้ำได้ง่าย ไม่จม และเป็นกระทงที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
4.หลีกเลี่ยงการจุดประทัดและดอกไม้ไฟ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่นได้
5.ไม่ควรลงไปเก็บเหรียญที่อยู่ในกระทง เพราะกระแสน้ำช่วงกลางคืนอาจพัดพาให้จมหาย ตามหาได้ยาก เพราะความมืดเป็นอุปสรรค
6.ลอยกระทงในสถานที่ ๆ มีผู้คนพลุกพล่าน อย่าไปในสถานที่เปลี่ยว เพราะเสี่ยงจะเจออันตรายจากโจรผู้ร้ายได้
7.หากมีลูกน้อยไปด้วย จะต้องดูแลอย่างดี ไม่ปล่อยให้เด็กเดินไปลอยกระทงคนเดียว
8.ถ้าจุดไหนมีการลอยกระทงเป็นจำนวนมาก จนนำกระทงลงไม่ได้ ให้ใช้มือปัดน้ำเพื่อให้กระทงอื่น ๆ ลอยออกไป จะได้วางกระทงของตัวเองต่อได้แบบไม่เบียดของคนอื่น

ข้อเสียของการจัดงานวันลอยกระทง
1.กระทงส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้กลายเป็นขยะ ย่อยสลายยาก โดยเฉพาะกระทงโฟม ซึ่งได้รับความนิยม เพราะน้ำหนัก เบา ลอยง่าย ราคาถูก แต่กลับเป็นขยะทางน้ำตามมา
2.วันลอยกระทงในปัจจุบันต่างจากอดีต เป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่นในแหล่งต่าง ๆ มากขึ้น
3.งานลอยกระทงที่จัดขึ้นในที่มีคนพลุกพล่าน เป็นสถานที่ล่อตาล่อใจเหล่ามิจฉาชีพ เสี่ยงต่อการโดนกรีดกระเป๋าขโมยทรัพย์สินแบบไม่รู้ตัว
4.การจุดประทัดในวันลอยกระทง แม้จะเป็นประเพณี แต่ถือว่าเป็นข้อเสียในยุคปัจจุบัน เพราะเสียงดัง ทำให้ผู้คนตกใจ และเสี่ยงเกิดอัคคีภัยได้
5.วันลอยกระทงมักมีการจัดกิจกรรมรื่นเริงที่มากเกินไป โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดความมึนเมา หากขับขี่รถ เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุต่อตนเองและเป็นภัยต่อผู้อื่น
6.ประเพณีปล่อยโคมลอย มีโอกาสทำให้โคมตกใส่หลังคาบ้าน เกิดเพลิงไหม้ได้ แม้จะเป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาก็ตาม
วันลอยกระทงเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยวิถีชีวิต และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทำให้มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่าง ๆ ไปมาก มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทางที่ดีการรักษาไว้ซึ่งประเพณีนี้คือการเก็บเอาความงดงามของวันลอยกระทงเอาไว้ จะได้ช่วยสืบสานมรดกอันทรงคุณค่านี้ต่อไป ไม่ให้สูญสลายไปเพราะสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาทำลายกิจกรรมให้ดูไม่ดี กลายเป็นวันอันตรายจนอาจต้องยกเลิกไปในอนาคต
บทความแนะนำ…๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ วันลอยกระทง วันแห่งความบริสุทธิ์