ประโยชน์ของลูกพีช มีมากมายกว่าที่เราคิด เพราะส่วนมากหลาย ๆ คนจะเน้นไปที่เรื่องของความสวยงาม แต่ ลูกพีช หรือเรียกอีกอย่างว่า ลูกท้อ มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Prunus persica อยู่ในวงศ์กุหลาบ Rosaceae เป็น 1 ในผลไม้ตระกูลพรุน เช่น เชอร์รี่, อัลมอนด์, บ๊วย และ ซารุกะ เป็นต้น ที่จริงแล้วชื่อของลูกพีชที่บ้านเรานั้นจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น มะฟุ้ง, มักม่น, มักม่วน , หุงหม่น และ หุงคอบ เป็นต้น ถือว่าเป็นผลไม้ที่ค่อนข้างดูแลยาก เพราะเหมาะกับการปลูกในพื้นที่ ๆ อากาศเย็น เพราะฉะนั้น ที่ไทยของเรามักจะปลูกที่ภาคเหนือมากกว่าภาคอื่น ๆ

ทำความรู้จักกับลูกพีช และประโยชน์ที่อัดแน่นมาเต็มลูก
ลูกพีช เป็นผลไม้ที่เมื่อก่อนที่บ้านเราไม่ค่อยมีเท่าไรนัก การเริ่มเอาลูกพีชเข้ามาปลูกที่ไทยครั้งแรกมาจากประเทศจีนตอนล่าง การปลูกครั้งแรกยังเป็นการใช้เมล็ดพันธุ์ เมื่อการปลูกประสบความสำเร็จทำให้พีชกลายเป็นผลไม้ที่งอกเงย ในปี 2512 มักจะเรียกกันว่า แปะมุงท้อ หรือ อ่างขางแดง ถัดมาไม่นานก็ได้มีโครงการที่ผ่านการศึกษาโดยนักวิชาการเกษตรที่ได้ทำการคิดค้นและเอาลูกพีชพันธุ์ต่างประเทศมาปลูกให้ผลผลิตนั้นงอกเงยมากขึ้นกว่าเดิม แถมยังเป็นวิธีการที่ประสบความสำเร็จด้วย
การปลูกต้นพีชเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาเป็น ลูกพีช จะต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากผู้ปลูก เพราะค่อนข้างเป็นต้นที่เติบโตช้า เติบโตยาก และต้องปลูกในบริเวณพื้นที่ ๆ มีความสูงเริ่มต้นที่ 3,000 ฟุต ขึ้นไป ลักษณะของต้นจะเป็นไม้พุ่มผลัดใบ ส่วนของใบจะเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปร่างคล้าย ๆ กับรูปหอก ส่วนของดอกจะเป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุก กลีบดอก 5 กลีบ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีสีขาว, สีชมพู และ สีแดง ลูกพีชจะเป็นลักษณะที่คล้าย ๆ กับแอปเปิ้ลเป็นรูปมนรีแหลม คล้ายกับรูปหัวใจ นอกจากนี้ผลจะมีขนสั้น ๆ ปกคลุมทั่ว ภายในถ้าผ่าออกมาจะมีเมล็ดอยู่ 1 เม็ด
ประโยชน์ของลูกพีช จากวิตามินที่อัดแน่นมาเต็มลูก
ประโยชน์ของการกินลูกพีชมีมากมาย นอกจากจะช่วยบำรุงเกี่ยวกับเรื่องความสวยความงามแล้ว ยังอุดมไปด้วย คาร์โบไฮเดรต ประมาณ 7 กรัม, โปรตีนประมาณ 0.8 กรัม, ไขมันประมาณ 0.1 กรัม, แคลเซียมประมาณ 8 มก., เหล็กประมาณ 1 มก., ฟอสฟอรัสประมาณ 20 มก., วิตามินประมาณ 6 มก., กรดนิโคตินิกประมาณ 0.7 มก., แคโรทีนประมาณ 0.01 มก., ไทยอามีนประมาณ 0.01 มก. ,น้ำมันระเหย, กรดอินทรีย์, กรดซิตริก, กระมาลิก และน้ำตาล ประกอบไปด้วย fructose, glucose, xylose และ sucrose มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลากหลายประการ ดังนี้
1. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหาร
สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องของระบบการขับถ่าย ท้องผูก ท้องร่วง การกินลูกพีชวันละ 25 กรัม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบขับถ่าย ช่วยให้เราสามารถขับถ่ายได้ง่ายขึ้น เพราะในลูกพีชมีใยอาหารประมาณ 1.5–2 กรัม และยังมี พรีไบโอติก ที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของร่างกาย ให้ระบบย่อยอาหารสามารถกักเก็บเอาจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ไว้ไปใช้ประโยชน์ในลำไส้ จึงทำให้เราขับถ่ายมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องกินยา หรือ อาหารเสริม นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องของการควบคุมน้ำหนัก หรือ ลดน้ำหนักด้วย
2. ช่วยยับยั้ง ป้องกัน เซลล์มะเร็ง
การกินลูกพีชจะมีโพลีฟีนอล ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยในเรื่องของการป้องกันความเสียหายของเซลล์ต่าง ๆ จึงช่วยป้องกันและยับยั้งการเกิดโรคร้าย รวมถึง โรคมะเร็ง เพราะโพลีฟีนอลในลูกพีชจะเข้าไปป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง (บางชนิด) นอกจากเซลล์แล้วยังช่วยเป็นเกราะป้องกันให้กับเนื้อเยื่อ จากผลวิจัยพบว่าในลูกพีชจะมีสารที่ส่วนกำจัดการได้รับสารนิโคตินในบุหรี่ได้อีกด้วย

3. ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิต และ โรคหลอดเลือด
ลูกพีช จะมีส่วนช่วยในเรื่องของการป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิต และ โรคหลอดเลือด เป็นมิตรกับหัวใจ นอกจากจะช่วยป้องกันแล้วยังช่วยบำรุงและฟื้นฟู ให้ร่างกายของเราได้รับ วิตามิน, เกลือแร่ และสารอาหารอื่น ๆ ได้ทุกวัน สารต้านอนุมูลอิสระในลูกพีชจะช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น ลดการสะสมของไขมันทำให้ป้องกันไม่ให้ไขมันเหล่านี้ไปอุดตันในหลอดเลือด
4. ช่วยทำให้ผิวสวย แข็งแรง
ประโยชน์ของลูกพีช นอกจากจะช่วยบำรุงสายตาแล้ว ยังอุดมไปด้วยสารสกัด และวิตามิน รวมถึงแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อผิว เซราไมด์ในลูกพีชจะเข้าไปฟื้นฟูบำรุงเปรียบเสมือนเป็นเกราะป้องกันให้กับผิว ผลัดเซลล์ผิวเก่าออกเผยผิวที่สวยงาม ทำให้ผิวนุ่ม ชุ่มชื้น มีความสามารถในการกักเก็บน้ำ กระจ่างใส นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการเกิดรอยย่น ตีนกา ก่อนวัยอันควรด้วย
ลูกพีช ถือเป็นผลไม้วิเศษช่วยทั้งเรื่องของความงามและสุขภาพ รสชาติอร่อย หวานอมเปรี้ยว ถึงแม้ว่าในยุคใหม่จะมีการเอาลูกพีชไปแปรรูปออกมาเป็นสกินแคร์บ้าง น้ำดื่มบ้าง บางที่ก็เอาไปอยู่ในเมนูอาหาร แต่ถ้าหากว่าอยากได้ประโยชน์เต็ม ๆ แนะนำว่าให้กินแบบสด ๆ เป็นลูกจะดีกว่า เพราะถ้าผ่านกระบวนการต่าง ๆ จะทำให้ประโยชน์และสารอาหารลดหลั่นลงไปตามกระบวนการ